จากการที่น้ำจืดของโลกขาดแคลนมากขึ้น ในปี พ.ศ.2535 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำของโลก” หรือ “World Day for Water” โดยเริ่มต้นในปี 2536 เป็นปีแรก และชักชวนให้ประเทศต่างรับเป็นวันสิ่งแวดล้อมของชาติ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ช่วยกันดูแล บำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต ตลอดจนดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสหประชาชาติปี 2535 ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า Agenda 21
วัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ
1. เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค
2. เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์น้ำในรูปแบบต่างๆ
3. เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลของแต่ละประเทศและหน่วยงานเอกชนได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์น้ำให้มากขึ้น
นโยบายการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน
องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดนโยบายการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน 5 ประการ ได้แก่
1. การจัดการให้พื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่แตกต่างกันได้มีโอกาสใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน
2. การอนุรักษ์แหล่งน้ำ โดยพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อแหล่งน้ำ
3. การควบคุมดูแลการใช้น้ำจากแหล่งต้นน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำของแหล่งปลายน้ำ
4. การจัดการกับปัจจัยอื่นๆ โดยดูแลปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำ
5. การจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม หน่วยงานของสหประชาชาติ 2 แห่ง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องน้ำโดยตรง คือ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก้) กับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสเคป) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำทั่วโลก ซึ่งน่าสนใจและมีหลายเรื่องที่คนทั่วยังไม่รู้และนึกไม่ถึง กล่าวคือ ยูเนสโกและเอสเคประบุว่า พื้นผิวโลก 2 ใน 3 ปกคลุมด้วยน้ำแต่เป็น " น้ำเค็ม " จากทะเลและมหาสมุทรทั้งหมด ส่วน " น้ำจืด " ซึ่งจำเป็นต่อการยังชีพของมนุษย์นั้น ครอบคลุมเพียงร้อยละ 1 ของผิวโลกเท่านั้น แต่ " แหล่งน้ำจืด " ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ,ใต้และธารน้ำแข็ง หรือซึมอยู่ใต้ผิวดินลึก จนมนุษย์ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนแหล่งน้ำจืดที่ใช้ได้จริงๆมีเพียงร้อยละ 0.25 เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่หาได้จากแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำจืดเพียงน้อยนิดนี้เองที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงชีวิตพลโลกกว่า 6,000ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เพียงพอ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำของมนุษย์กลับมีมากขึ้นทุกวัน และมีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างฟุ่มเฟือย ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของน้ำจืด จนตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง
คำขวัญวันน้ำของโลก
ปี 2537 : " การดูแลน้ำของเราเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน" ( Caring of our water is everyone business )
ปี 2538 : " สตรีและน้ำ " ( Woman and Water )
ปี 2539 : " น้ำสำหรับเมืองที่กระหาย" ( Water for Thirsty Cities )
ปี 2540 : " น้ำของโลก-มีพอไหม" ( The World's Water ; Is There Enough? )
ปี 2541 : " น้ำในดิน-ทรัพยากรที่มองไม่เห็น" ( Groundwater-the Invisible Resource )
ปี 2542 : " ชีวิตมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำ"( Everyone Lives Downstream )
ปี 2543 : " น้ำสำหรับศตวรรษที่ 21" ( Water for the 21st Century )
ปี 2544 : " น้ำและสุขภาพ" ( Water and Health )
ปี 2545 : " น้ำสำหรับการพัฒนา" ( Water for Development )
ปี 2546 : " น้ำสำหรับอนาคต" (Water for the Future)
ปี 2547 : " น้ำและหายนะ" (Water and Disasters)
ปี 2548 : " น้ำเพื่อชีวิต" (Water for Life)
ปี 2549 : " น้ำและวัฒนธรรม" (Water and Culture )
ปี 2550 : " การจัดการกับการขาดแคลนน้ำ" (Coping with Water Scarcity) เมื่อเราตระหนักแล้วว่า "น้ำ" มีความสำคัญเช่นนี้แล้ว เราทุกคนต้องช่วยกันใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสม ประหยัด เพื่อเราทุกคนจะได้มีน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น