วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

วันกองทัพอากาศ


กำลังทางอากาศของไทย เริ่มต้นจากนักบินเพียง ๓ คน และเครื่องบินอีก ๘ เครื่องเท่านั้น การบินของไทยในระยะแรก ได้ใช้สนามม้าสระปทุม หรือราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบัน เป็นสนามบิน แต่ด้วยความไม่สะดวกหลายประการ บุพการีทั้ง ๓ ท่าน จึงได้พิจารณาหาพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมต่อการบิน และได้เลือกเอาตำบลดอนเมือง เป็นที่ตั้งสนามบิน พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคาร สถานที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบิน ไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งยกแผนกการบินขึ้นเป็น "กองบินทหารบก" ซึ่งถือได้ว่า กิจการการบินของไทย ได้วางรากฐานอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอา วันที่ ๒๗ มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันที่ระลึกกองทัพอากาศ" นับแต่นั้นมา บทบาทของกำลังทางอากาศ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ นับตั้งแต่การเข้าร่วมรบ ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับพันธมิตรในยุโรป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งทำให้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิ ของชาติ เป็นที่ยอมรับ และยกย่อง เป็นอันมาก และทางราชการได้ยกฐานะ กองบินทหารบกขึ้นเป็น "กรมอากาศยานทหารบก" ในเวลาต่อมา กำลังทางอากาศ ได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศชาติทางด้านต่างๆ อันเป็นรากฐาน ของกิจการหลายอย่างในปัจจุบัน อาทิ การบินส่งไปรษณีย์ทางอากาศ การส่งแพทย์ และเวชภัณฑ์ทางอากาศ เป็นต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศ มิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์ อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่นๆ อีกด้วย จึงได้แก้ไขการเรียกชื่อจาก กรมอากาศยานทหารเป็น "กรมอากาศยาน" และเป็น "กรมทหารอากาศ" ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบ จากสีเขียว มาเป็นสีเทา ดังเช่นปัจจุบัน วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ กรมทหารอากาศได้ยกฐานะเป็น "กองทัพอากาศ" มีนาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก กองทัพอากาศ จึงได้ถือเอา วันที่ 9 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันกองทัพอากาศ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น