วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรคฟันผุ ... เกิดจากอะไร



โรคฟันผุ เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อแข็งของฟัน ได้แก่ เคลือบฟัน เนื้อฟัน เคลือบรากฟัน เมื่อเป็นโรคฟันผุ ในระยะเริ่มแรก ต้องใช้การสังเกตอย่างละเอียด จึงจะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ ชั้นเคลือบฟัน โดยเปลี่ยนจากสีขาวใส เป็นสีขุ่นขาว หรือจุดสีน้ำตาล หรือรอยดำๆ ระยะนี้ไม่มีอาการใดๆ จึงมักถูกปล่อยทิ้งไว้ จนกระทั่ง การผุของฟันลุกลามต่อเนื่อง มีผลให้เนื้อฟันเปื่อยยุ่ย มองเห็นเป็นรูชัดเจน ในระยะนี้ เริ่มมีอาการเสียวฟัน หรือปวดฟัน หากปล่อยไว้ต่อไป การผุก็จะลุกลามเข้าสู่ โพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวดมาก และหากมีการติดเชื้อร่วมด้วย ก็จะเกิดการบวม ที่บริเวณเหงือกรอบๆ ฟัน
ในสภาวะปกติ สภาพแวดล้อมในช่องปากมีกระบวนการ แลกเปลี่ยนแร่ธาตุ แคลเซียม และฟอสฟอรัส ในขั้นผิวเคลือบฟัน กับสภาพแวดล้อมของน้ำลาย เกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างสมดุล คือ เมื่อฟันสูญเสียแร่ธาตุ แคลเซียม ฟอสฟอรัส กลับคืนจากน้ำลายเท่านั้น แต่ในภาวะจุลินทรีย์มีการย่อยสลาย อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ก็จะเปลี่ยนให้สภาพแวดล้อม ของน้ำลายกลายเป็นกรด ซึ่งมีผลให้กระบวนการ แลกเปลี่ยนแร่ธาตุเหล่านั้น เสียความสมดุล โดยฟันจะมีการสูญเสียแร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส จากตัวฟันให้กับสภาพแวดล้อม มากกว่าการได้รับกลับคืน กระบวนการนี้ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จะมีผลให้ฟันผุ
อันตรายจากโรคฟันผุ
ฟันผุในระยะแรก เริ่มที่ชั้นเคลือบฟัน จะไม่มีอาการใดๆ เมื่อมีการผุลุกลามไปสู่ชั้นเนื้อฟัน จึงเริ่มมีความรู้สึกเสียวฟัน หรือปวดฟัน เวลารับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำเย็น และถ้าไม่ไปรักษา ดดยการอุดฟัน การผุก็จะลุกลาม ลงสู่โพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการติดเชื้อ แพร่กระจายออกจากฟัน ไปสู่เนื่อเยื่ออื่นๆ บางครั้งการติดเชื้อนี้ มีการลุกลามไปยังบริเวณที่สำคัญ เช่น ที่ใต้คาง ใต้ตา อาการปวด และบวมจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจมีอันตราย ถึงแก่ชีวิตได้
เนื้องอกในโพรงฟันผุ
ฟันผุ และมีเนื้องอกเกิดขึ้นในโพรงฟัน เป็นการผุในระยะที่เชื้อจุลินทรีย์ ลุกลามลงสู่โพรงประสาทฟัน และมีการติดเชื้อลงสู่ปลายรากฟัน ในลักษณะเรื้อรัง แต่ไม่รุนแรง มีผลกระตุ้นให้เนื้อเยื่อในฟัน มีการตอบสนอง ต่อการติดเชื้อ เกิดเป็นก้อนเนื้อในโพรงฟัน และโตขึ้นเรื่อยๆ จนมองเห็นได้ชัดเจน ก้อนเนื้อนี้มักมีเลือดออกง่าย เมื่อได้รับการระคายเคือง การผุลักษณะนี้ เนื้อฟันมักถูกทำลายไปมากแล้ว การรักษาส่วนใหญ่ มักต้องถอนฟันออก การพบก้อนเนื้อในรูฟันผุ บางครั้งอาจเกิดจากเหงือกอักเสบ ที่เติบโตอย่างผิดปกติ เช้าไปในรูฟันผุ ที่ยังไม่ทะลุโพรงประสาทฟัน ซึ่งหากเป็นก้อนเนื้อจากเหงือกอักเสบ ก็รักษาได้ โดยการตัดเฉพาะส่วนของเหงือกที่โตนั้นออก แล้วทำการอุดฟันที่ผุนั้น
ฟันที่อุดแล้วปวด ... ทำอย่างไร
ฟันที่อุดแล้วปวด ส่วนมากเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ มีการผุเกิดขึ้นใหม่ ที่ขอบของวัสดุที่อุดแล้ว หรือเกิดจากการเอาส่วนที่ผุ ออกจากรูผุได้ไม่หมด ซึ่งคนส่วนใหญ่จะคิดว่า อุดฟันแล้ว จะไม่ผุอีก จึงไม่ค่อยให้การสังเกต หรือดูแลฟันซี่ที่อุด ปล่อยให้การผุที่เกิดขึ้น ลุกลามต่อเนื่อง เข้าสู่ชั้นเนื้อฟัน ที่อยู่ใกล้กับชั้นของโพรงประสาทฟัน หรือผุถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการปวดขึ้น การแก้ไขคงต้องได้รับการตรวจ ว่าการผุลุกลามไปมากเพียงใด หากไม่ถึงโพรงประสาทฟัน การรักษาทำโดยการอุดฟัน แต่หากผุถึงโพรงประสาทฟัน ก็ต้องรักษาโพรงประสาทในรากฟัน และตัวฟัน ก่อนที่จะอุดฟันได้
โรคปริทันต์ เป็นอย่างไร
โรคปริทันต์มีตั้งแต่ ภาวะเหงือกอักเสบ และปริทันต์อักเสบ ซึ่งจะแตกต่างกัน โดยดูจากรอยโรคที่เกิดขึ้น คือ โรคเหงือกอักเสบจะมีความผิดปกตอ เฉพาะบริเวณของเหงือกเท่านั้น อาการที่พบคือ เหงือกบวมแดง และมีเลือดออกได้ง่าย ส่วนโรคปริทันต์นั้น เมื่อเป็นจะมีการทำลายอวัยวะปริทันต์ ที่อยู่รอบๆ ฟัน คือ เหงือก เยื่อยึกปริทันต์ กระดูกเบ้าฟัน และเคลือบราฟัน ซึ่งเป็นอวัยวะช่วยยึด ให้ฟันอยู่แน่นได้ โดยไม่โยก
ในระยะที่โรคปริทันต์ลุกลามไปมาก จะมีอาการให้เห็นอย่างชัดเจนคือ เหงือกบวม และมีหนองไหลออกมาจากร่องของเหงือก ฟันมักจะโยก บางครั้งมีอาการปวด และมักจะเป็นกับฟันหลายๆ ซี่ ในช่องปาก
เหงือกมีเลือดออก
การมีเลือดออกจากเหงือก ภายหลังการแปรงฟัน ทั้งที่แปรงสีฟันไม่ได้กระแทกเหงือก ให้เกิดบาดแผลเลยนั้นน่าจะเป็นผลมาจาก การเป็นโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนอง ของเหงือก ต่อสารระคายเคืองจากคราบจุลินทรีย์ ผิวของเหงือกมีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มการไหลเวียนของเลือกที่มาหล่อเลี้ยง หรือมีเลือกคั่งอยู่ที่ผิวของเหงือกมากขึ้น ทำให้เหงือกบวมแดง เนื้อเยื่อที่ปกคลุมผิวเหงือก จึงบางขึ้น และฉีกขาดได้ง่าย ดังนั้น เมื่อได้รับการเสียดสีเพียงเล็กน้อย เช่น การแปรงฟัน ก็จะมีเลือดออก การเป็นโรคเหงือกอักเสบนี้ สามารถแก้ไขได้ ด้วยตนเอง โดยการแปรงฟัน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ช่วยทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ อันเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค การดูความสะอาดในช่องปาก อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เหงือกกลับคืนสภาพปกติได้
เมื่อเหงือกบวมเป็นหนอง
อาการเหงือกบวม มีเลือดออก และบางครั้งมีหนองไหลออกมา จากร่องเหงือก เป็นอาการของโรคปริทันต์ ในระยะที่ลุกลามมากแล้ว เมื่อตรวดูจะพบว่า ร่องเหงือกมีความลึกมากขึ้น ซึ่งเรียกว่า ร่องลึกปริทันต์ หรือบางทีก็เห็นตัวฟันยาวเพิ่มขึ้นด้วย การรักษา ขึ้นกับอวัยวะปริทันต์ที่อยู่รอบๆ ฟันที่ทำหน้าที่ช่วยยึดฟันให้แน่น ว่าถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน หากอวัยวะปริทันต์มีเหลือพอ ที่จะช่วยยึดฟัน หมอฟันจะให้การรักษา โดยการทำความสะอาดร่องลึกปริทันต์ บางรายอาจทำการผ่าตัดเหงือก เพื่อลดความลึกของร่องลึกปริทันต์ การรักษาคงต้องไปพบหมอฟันหลายครั้ง สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาได้ผล ตัวผู้ป่วยเอง จะต้องรักษาความสะอาด ของช่องปากอย่างสม่ำเสมอ แต่หากตรวจพบว่า อวัยวะปริทันต์ถูกทำลายไปมากแล้ว การรักษาคงต้องถอนฟันซี่นั้นออก
แผลในช่องปาก
แผลในช่องปากที่พบบ่อย ได้แก่ แผลร้อนใน บางทีเรียก แผนปากเปื่อย การเป็นแผลร้อนใน เริ่มจากเป็นรอยบวมแดงๆ 2-3 วัน จากนั้นรอยบวมจะแตกออกเป็นแผล มีลักษณะเป็นรอยหวำตื้นๆ ส่วนใหญ่เป็นรูปไข่ มีเยื่อเมือกบางๆ สีขาว หรือสีเหลือง ปกคลุมอยู่ มีขอบแผลเล็กๆ สีแดงล้อมรอบ ขนาดของแผลไม่โตมากนัก โดยทั่วไปมีขนาดตั้งแต่หัวเท่าเข็มหมุด จนถึงมีขนาดใหญ่มาก แผลจะเกิดได้ทั่วไปในช่องปาก ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน เนื่องจากมีอาการปวดแสบปวดร้อน ในระยะ 3-4 วัน รอยแผลจะหายได้เอง ใน 7-10 วัน บางครั้งการใช้ยาสีฟันก็อาจทำให้เกิดแผลในปากได้ เพราะยาสีฟันบางชนิดมีสารที่ อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก ซึ่งพบได้กับคนส่วนน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น